เปิดยุทธศาสตร์ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ท่ามกลางการฟื้นตัวหลังโควิด 19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง มุ่งมั่นช่วยพาลูกค้าฝ่าวิกฤต เตรียมลงสนามตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมลุยธุรกิจระดับภูมิภาค

ไทยพาณิชย์เชื่อศก.ทยอยฟื้น

ไวรัสโอไมครอนกระทบไม่มาก

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) เปิดเผยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมองว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยประมาณ 5.9 ล้านคน และเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.4% จากความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่คาดว่าจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงต้นของปี

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโอไมครอน ในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับกรณีของ Delta ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความพร้อมปรับตัวต่อสถานการณ์เพิ่มมากขึ้น ผ่านช่องทาง e-Commerce และ Online ต่างๆ ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบ ปัญหาคอขวดของเรือขนส่งสินค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และความเสี่ยงด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนจากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งเหล่านี้อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในมิติและระดับที่แตกต่างกัน

“เราจึงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3.2% และกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับก่อนโควิดจะเป็นช่วงกลางปี 2023 ไปแล้ว”

นายอาทิตย์กล่าวว่า ธุรกิจธนาคารต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง มีผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และภาวะหนี้ครัวเรือน ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจธนาคารโดยตรง และด้วยโอกาสในการขยายธุรกิจมีอยู่อย่างจำกัดการแข่งขันจึงเพิ่มสูงขึ้น มีนอนแบงก์ และบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก รวมถึงฟินเทคใหม่ๆ เข้ามาร่วมแข่งขันในธุรกิจอีกด้วย ส่งผลต่อราคา ต้นทุน และผลประกอบการของธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ การเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ และการขยายสู่ธุรกิจใหม่ยิ่งจำเป็นมากขึ้นภายใต้เทรนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในยุคโควิดนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจจากเดิมที่เป็น Universal Bank ที่ทำทุกอย่างเพื่อทุกคนผ่านเครือข่ายสาขา เป็นการให้บริการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เช่น ผ่านแอปพลิเคชั่น SCB Easy จนมาถึงการพัฒนาแอปฯสั่งอาหารอย่าง Robinhood ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โควิด

สำหรับการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่เข้ามากระทบ แต่ยังมี VUCA (Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) หมายถึงความผันผวนไม่แน่นอนซับซ้อนเกี่ยวโยงกันจนแยกไม่ออก ซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น เรื่องภาวะโลกร้อน สงครามการค้า การเมืองระหว่างประเทศ และอื่นๆ ปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ เหล่านี้กระทบการทำธุรกิจอยู่ตลอดเวลาและคาดเดาได้ยาก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นให้กับธนาคาร จึงไม่มีคำว่า Low Risk อีกแล้ว มีแต่ความเสี่ยงที่สูงขึ้นและถี่มากขึ้น

นายอาทิตย์กล่าวว่า ธุรกิจธนาคารซึ่งเคยเป็นตัวกลางหลักในการให้บริการทางการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โลกการเงินอาจจะไม่ต้องการตัวกลาง หรือต้องการตัวกลางน้อยลง การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินจะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะง่ายขึ้นเนื่องจากการเชื่อมโยงถึงกันแบบแทบไร้ขีดจำกัด เมื่อทุกอย่างไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล และมีเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สามารถยืนยันการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ย่อมหมายความว่าความเชื่อมั่นจะขยับไปอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยี และความสำคัญของการเป็นตัวกลางของธนาคารจะลดลงไปโดยปริยาย

“สิ่งที่ธนาคารต้องทำเพื่อการอยู่รอดอย่างยั่งยืนขององค์กรในภาวะที่โลกให้ความสำคัญต่อตัวกลางสำคัญลดลงคือหาวิธีในการเข้าถึงผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ โดยเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันให้ได้ผ่านการเข้าไปฝังตัวอยู่ใน Ecosystem ต่างๆ เพื่อจะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้แม้ไม่ผ่านเครือข่ายสาขาเหมือนในอดีต การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมเพื่อการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างมากขึ้นจึงจะเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจต่อไป”

ขณะที่ศักยภาพในการบริหารจัดการและนำฐานข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงที่สุดภายใต้กฎเกณฑ์และความระมัดระวังในเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลก็มีความสำคัญและจะต้องไม่กระทบความเป็นส่วนตัวของลูกค้าให้มากที่สุด และสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงความต้องการของลูกค้าได้ตรงเป้าและถูกที่ถูกเวลา เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะนำพาธนาคารในโลกดิจิทัลให้ก้าวหน้าไปได้อย่างแข็งแรงยั่งยืน

แผนเดินเครื่องยานแม่

รุกสินทรัพย์ดิจิทัล

นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า ในส่วนเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2565 นั้น ธนาคารคาดว่าการเติบโตสินเชื่อนั้นคงไม่สูงมากนักเนื่องจากการภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่กลับมาเติบโตเต็มที่ โดยธนาคารยังคงผลักดันธุรกิจนายหน้าค้าประกันและธุรกิจบริหารความมั่งคั่งเป็นเรื่องหลักที่จะสร้างการเติบโตให้ธนาคารอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งหลังจากที่มีการสร้างรากฐานที่แข็งแรงในสองปีก่อน ธุรกิจเติบโตได้เป็นอย่างดีในปี 2564 ที่ผ่านมา และธนาคารเชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะเติบโตในสองธุรกิจนี้ได้อีกมาก

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมไทยยังมีการเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ในระดับที่ไม่สูงนัก และธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีทั้งการวางรากฐานเช่น ระบบปฏิบัติการ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายและน่าสนใจทั้งที่พัฒนาขึ้นมาเองรวมถึงการจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเหล่านี้อย่างเช่น FWD ในส่วนผลิตภัณฑ์ประกัน และ Julius Baer ในส่วนธุรกิจบริหารความมั่งคั่งอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลายหลายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยจะต้องเพิ่มทั้งประสิทธิภาพ (Efficiency) และเพิ่มการเข้าถึง (Inclusivity) ของบริการของธนาคารในรูปแบบดิจิทัล และต่อยอดไปสู่บริการอื่นๆ ด้วยการขยาย Ecosystem ให้ใหญ่ กว้างขวาง ในเชิงรุกจากบริการทางการเงินไปสู่ Lifestyle เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงโฟกัสเรื่องการดูแลลูกค้าจากต้นสู่ปลายให้มากขึ้นเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายมีประสบการณ์ที่ดีกับธนาคาร

นายอาทิตย์กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินไทยพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมามีธนาคารเป็นหัวหน้าของกลุ่ม แต่โครงสร้างใหม่จะมีบริษัท SCBX ขึ้นเป็น “ยานแม่” โดยธนาคารเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของยานแม่ ควบคู่ไปกับบริษัทลูกอีกหลายบริษัทที่จะถูกแยกออกจากธนาคารและจัดตั้งขึ้นมาใหม่ที่จะมีหน้าที่บุกธุรกิจที่มีโปรไฟล์ที่ค่อนข้างต่างจากธนาคารทั้งในเรื่องโอกาสในการเติบโต ผลตอบแทน และการคุมความเสี่ยง

 เช่น ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในรูปแบบต่างๆ ทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถหรู สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันในรูปแบบต่างๆ และยังมีธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี โซลูชั่น และแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ด้วย

“การแยกธุรกิจเหล่านี้ออกจากธนาคารนั้นเพื่อให้บริษัทต่างๆ ในกลุ่มมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ การหาทรัพยากรที่เหมาะสมกับธุรกิจอย่างแท้จริง สามารถตอบโจทย์การทำธุรกิจในรูปแบบใหม่และตอบสนองความต้องการของลูกค้าในวงกว้างขึ้นและรวดเร็วขึ้น”

 โดยบทบาทหลักของ SCBX คือจะเป็นเข็มทิศให้กับกลุ่ม และทำหน้าที่หลักๆ ดังนี้

       1. สร้างและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ให้กับกลุ่ม โดยรวมถึงการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เจ้าของธุรกิจหน้าใหม่ๆ เพื่อความร่วมมือเชิงธุรกิจให้กับกลุ่มต่อไป

       2. บริหารและจัดการเงินทุนของกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของกลุ่มภายใต้การจัดการความเสี่ยงของกลุ่มอย่างเหมาะสม

       3. สร้างและใช้ศักยภาพด้านข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่ม ตั้งแต่การสร้าง การจัดการ และการใช้ประโยชน์จากการมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่

       4. การกำกับดูแลและบริหารทิศทางโดยรวมของกลุ่ม ให้ธนาคารและบริษัทภายในกลุ่ม ซึ่งแม้จะมีการบริหารที่แยกกัน แต่ยังคงดำเนินทางไปในทิศทางเดียวกันตามที่ได้กำหนดไว้ และเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับแต่ละหน่วนงานแต่กำหนดไว้

นายอาทิตย์กล่าวด้วยว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหนึ่งในธุรกิจการเงินแห่งโลกอนาคตมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเติบโตในระยะยาว ด้วยกระแสความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมุมของผู้บริโภคที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในขณะที่ภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศก็เริ่มเดินหน้าทำธุรกิจและให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Crypto Economy มีโอกาสพัฒนาเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินในโลกอนาคต และจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว

กสิกรไทยคาดจีดีพีโต 2.8%

พร้อมพาลูกค้าฝ่าวิกฤติ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Omicron แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัด แต่ทั่วโลกยังมีความกังวลต่อความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ดังจะเห็นจากมาตรการการเดินทางและสุขอนามัยต่างๆ ที่คุมเข้มมากขึ้นในหลายประเทศ ในการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัส Omicron จะขึ้นอยู่กับอัตราการแพร่เชื้อ ประสิทธิภาพของวัคซีน และความรุนแรงของโรค

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ภายใต้สมมติฐานที่การแพร่ะบาดของสายพันธุ์ Omicron จะบรรเทาลงในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2565 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยคาดว่าจะไม่มีการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเติม โดยให้ใช้วงเงิน 2.6 แสนล้านบาทที่คงเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

ในกรณีดีนั้น แม้ไวรัสจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่หากความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ Delta และวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันสามารถลดหรือจำกัดระดับความรุนแรงของอาการป่วยได้ ไทยก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ ดังนั้น เศรษฐกิจทั้งปี 2565 ก็ยังน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ที่ 3.7% โดยเศรษฐกิจไทยยังจะได้รับแรงหนุนจากการส่งออก การฟื้นตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งภายใต้กรณีนี้แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ในกรณีแย่ ที่สายพันธุ์ Omicron มีความรุนแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์ Delta และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อความจำเป็นต้องมีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ อาทิ ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อคดาวน์ในประเทศตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.8% อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานในกรณีแย่ สถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมก็ยังดีกว่าช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Delta ที่เริ่มในช่วงเดือน เม.ย. 64

ทั้งนี้ ธุรกิจธนาคารดั้งเดิมอย่างเช่น การปล่อยสินเชื่อยังเป็นไปด้วยความระมัดระวัง โจทย์เฉพาะหน้ายังเป็นการช่วยเหลือลูกค้าและสังคมให้รอดผ่านวิกฤติไปด้วยกันได้ โดยมีการจัดการลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสำหรับธนาคารและ Non-Bank มีจำนวนกว่า 2.7 ล้านบัญชี ทั้งนี้ หากมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron เพิ่มขึ้น ธนาคารคงต้องเตรียมการช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งสอดคล้องไปกับแนวทางที่ ธปท.ให้ไว้ ซึ่งธนาคารยังต้องเน้นการควบคุมคุณภาพหนี้ให้ก้าวข้ามผ่านช่วงโค้งนี้ไปให้ได้”

Reform รับ New Normal

ร่วมทดสอบ Retail CBDC

นางสาวขัตติยากล่าวอีกว่า ยังมีโจทย์ที่มองไปข้างหน้าหลังวิกฤต ที่บริบทการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค และ Technology ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ธนาคารต้องตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป รวมถึงนำพาลูกค้าของธนาคารให้ Reimagine เห็นโลกใหม่ใน New Normal และ Reform ธุรกิจให้พร้อมรับ New Normal ที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมกันกับเรา

ในปี 2565 ธนาคารกสิกรไทยยังคงดำเนินธุรกิจบนหลักการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) เป็น Regional Financial Service Provider โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) และมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life & Business) ในทุกๆ กลุ่ม ผ่านการบริการที่เบ็ดเสร็จตอบโจทย์ทุกด้านของลูกค้า การบริการที่ใส่ใจความต้องการของลูกค้าและสังคม การให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างครอบคลุมทุกที่ทุกเวลา และการเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า

นอกเหนือจากความยั่งยืนตามหลักการ ESG ที่ครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล แล้ว ธนาคารยังมีเป้าหมายด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง อันเกิดจากความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันซึ่งเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทั้งในมุมมองของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ

สำหรับยุทธศาสตร์และแผนธุรกิจของธนาคารในปี 2565 ธนาคารต่อยอดยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้าต่อเนื่องจากปี 2564 คือ

       – เป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินทางดิจิทัล (Dominate Digital Payment) เพื่อเข้าถึงและให้บริการลูกค้าในสถานที่และเวลาที่ลูกค้าต้องการ โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยทั้งบุคคลและธุรกิจ รวมถึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมแก่ลูกค้าต่อไป

     – ยกระดับการปล่อยสินเชื่อทั้งด้านธุรกิจและบุคคล (Reimagine Commercial & Consumer Lending) เพื่อสร้างรายได้ด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเจาะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายย่อยหรือคนตัวเล็ก ให้เข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ง่ายขึ้น การนำข้อมูลธุรกรรมทางธุรกิจที่ได้จากคู่ค้าใน Value Chain มาวิเคราะห์เพื่อหาลูกค้าใหม่ รวมถึงการบริหารต้นทุนด้านความเสี่ยงและการปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      – ขยายการให้บริการลงทุนและประกันไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงการลงทุนและประกัน (Democratize Investment & Insurance) ด้วยผลิตภัณฑ์ของธนาคารฯ บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน รวมถึงการให้บริการจากพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร ด้วยแพลทฟอร์มการลงทุนที่ช่วยให้ลูกค้าสะดวกและมีข้อมูลในการตัดสินใจได้ โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยหรือคนตัวเล็ก

    – รุกตลาดภูมิภาค AEC (Penetrate Regional Market) เพื่อให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและทำธุรกิจใน AEC ที่กำลังเติบโตทั้งทางด้านประชากรและเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2566 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมด

       – ยกระดับประสบการณ์บริการและการขาย (Strengthen Sales and Service Channel Experience) พัฒนาบริการของช่องทางต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าทำรายการได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงมีรูปแบบการขายและบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า

       – เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อสร้างคุณค่าที่มากขึ้นจากการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพทั้งทรัพยากรบุคคล ข้อมูล การเงิน และเทคโนโลยี (Improve Value-Based Productivity)”

นางสาวขัตติยากล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับการให้บริการด้านการเงิน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในทุกกลุ่ม โดยสำหรับความต้องการบริการด้านสินทรพย์ดิจิทัลนั้น ในปี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการจัดตั้ง บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด หรือ Kubix ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ในตลาดแรกผ่านบล็อกเชน

โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Physical Assets) หรือสินค้าทั่วไปที่อยู่ในตลาด มาแปลงสภาพเป็น Token สู่โลกดิจิทัล เพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างโลกปัจจุบันและโลกอนาคต”

สำหรับ Kubix มีจุดยืนที่จะเป็น Trusted Partner ในทุกด้าน ให้แก่ทั้งนักลงทุน ผู้ออกโทเคนดิจิทัล (Token Issuer) และผู้ออกกฎเกณฑ์ (Regulator) โดยให้ความสำคัญต่อความถูกต้องในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้าและพันธมิตรในการเข้ามาร่วมเติมเต็มระบบนิเวศน์ ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทพันธมิตรหลายราย ได้ให้ความสนใจในการนำสินทรัพย์มาแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อทำ ICO โดยในอนาคตอันใกล้ นักลงทุนจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ของ Token ที่น่าดึงดูดในอีกหลากหลายรูปแบบ

นอกจากนี้ Kubix ยังเป็นพันธมิตรกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อจัดตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange : TDX) สำหรับซื้อขายสินทรัพย์ที่เป็นโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) รวมถึงตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมต่อการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทอื่นๆอีกด้วย

ส่วนบริษัท KASIKORN X จำกัด หรือ KX ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ในกลุ่ม Kasikorn Business Technology Group ยังมีการศึกษาโอกาสในการสร้างนวัตกรรม ในระบบการเงินแบบกระจายอำนาจผ่านบล็อกเชนที่ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ สามารถทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงิน หรือ Decentralized Finance (DeFi)

โดยในปี 2564 ได้มีการเปิดตัว Coral แพลตฟอร์ม NFT Marketplace เป็นประตูสู่ตลาดการค้างานศิลปะที่สำคัญให้แก่ศิลปินและนักสะสม โดยมุ่งที่จะสนับสนุนศิลปินไทยและเอเชียให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และจะมีการพัฒนาธุรกิจใหม่ ผ่าน Decentralized Finance and Beyond อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการพัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์การชำระเงินด้วยสินทรัพย์ดิจิตอล ธนาคารได้เข้าร่วมแผนทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสำหรับภาคประชาชน (Retail CBDC) ที่พัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดการทำสอบในปี 2565 เนื่องจากเล็งเห็นว่า การที่ประเทศไทยมี Retail CBDC นั้น สามารถสร้างประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม เช่น ลดต้นทุนการผลิตและขนส่งเงิน หรือการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial inclusion) ได้ในวงกว้าง

ซึ่งการที่ธนาคารเข้าร่วมในการทดสอบนี้ จะทำให้ธนาคารมีความเข้าใจการระบบการทำงานของ Retail CBDC ที่จะสามารถนำมาต่อยอดกับบริการ Mobile Banking ที่ธนาคารกสิกรมีฐานลูกค้าจำนวนมากให้สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดังกล่าว รวมไปถึงโอกาสในการต่อยอดการใช้งาน Retail CBDC เพื่อใช้ตอบโจทย์ Innovation use case ที่ธนาคารเห็นว่าจะสร้างความสะดวกต่อผู้ใช้งานได้

 ธนาคารกสิกรไทยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมุมของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพิ่มเติม และการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ และบริษัทฟินเทคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การลงทุนของ บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล (Beacon VC) ซึ่งเป็นบริษัทเงินร่วมทุนของธนาคารกสิกรไทย ได้เข้าลงทุนในบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่ได้รับใบอนุญาตเป็น “ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” (Cryptomind Advisory) จากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อผลักดันธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสู่วงกว้าง เป็นต้น

กรุงศรีต่อยอดภูมิภาค

ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 ในภาพรวมนั้นจะอยู่ในระหว่างฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยังพบความไม่เท่าเทียมกันอยู่ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.7% จากปี 2564 ที่เติบโตเพียง 1.2% และมีแนวโน้มที่มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

ปัจจัยภายในและภายนอกประเทศล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนที่ช่วยหนุนให้ไทยและหลายๆ ประเทศสามารถเปิดประเทศได้กว้างขวางขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและผลเชิงบวกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่จะส่งผลดีต่อภาคส่งออกของไทย มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและประเด็นท้าทายที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ ความไม่แน่นอนของการระบาดของไวรัส COVID-19 จากการกลายพันธุ์และผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ผลข้างเคียงจากการปรับลดแรงกระตุ้นทางการเงินของสหรัฐฯ ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานของโลก

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศซึ่งอาจกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมมีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวอาจแตกต่างกันในมิติของอาชีพ พื้นที่ และระดับรายได้

โดยคาดว่าในปี 2565 จะเติบโตราว 3.6% จากการปรับดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นมาก ผนวกกับมาตรการภาครัฐที่อาจเป็นปัจจัยหนุนในระยะสั้นอยู่บ้าง แต่การใช้จ่ายอาจขยายตัวได้จำกัดเนื่องจากยังมีความเปราะบางในตลาดแรงงาน

ด้านภาคส่งออกคาดว่ายังเติบโตได้ 5.0% แม้จะชะลอตัวแต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่ขยายตัว 2.9% แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากมีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางมากขึ้น กอปรกับผลบวกจากการรวมกลุ่มระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน (Regionalization) โดยเฉพาะ RCEP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2565 น่าจะมีส่วนเสริมภาคการค้าในระยะถัดไป

การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นเป็น 4.6% อานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยหนุนให้เกิดวัฏจักรขาขึ้นของการลงทุน สอดคล้องกับสัญญาณเชิงบวกจากเงินลงทุนสุทธิโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าทั้งปี 2562 ช่วงก่อนเกิดการระบาด การเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในลักษณะการร่วมทุนกับภาครัฐอีกด้วย

ในส่วนของภาคท่องเที่ยวนั้นยังนับว่าอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัว แม้จะมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวกับกว่า 60 ประเทศในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากข้อจำกัดของประเทศต้นทางและความไม่แน่นอนของการระบาด คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะอยู่ที่ 7.5 ล้านคน และกว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้ที่ 40 ล้านคน อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2568

นายเซอิจิโระกล่าวว่า กรุงศรีมองเห็น 3 ประเด็นหลักที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกธุรกิจ แต่เป็นเรื่องที่ในฐานะสถาบันการเงินและองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมตระหนักและให้ความสำคัญ รวมทั้งปรับตัวเพื่อตอบรับสถานการณ์

       ประเด็นแรก การฟื้นฟูและการปรับตัว (Recovery & Resilience) : กรุงศรีมีจุดยืนที่ชัดเจนในการให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด และยืนยันที่จะช่วยประคับประคองลูกค้าไปจนกว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกัน ธนาคารเองก็ปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ โดยได้มีการปรับสัดส่วนอุตสาหกรรมในพอร์ตสินเชื่อใหม่ให้สอดรับกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปตามแต่ละอุตสาหกรรม (Uneven Recovery)

       ประเด็นที่สอง การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและรายได้ใหม่ๆ (New opportunities & New revenue stream) : ธนาคารจะมีการแสวงหาและกระจายแหล่งที่มาของรายได้ใหม่ๆ มากขึ้น จากทั้งในและต่างประเทศ โดยรายได้ใหม่ๆ ในประเทศนั้น ธนาคารจะมีการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ร่วมกันกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ รวมถึงการต่อยอดพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน ทำให้รูปแบบสินค้าและบริการจะถูกออกแบบให้เหมาะสมและเข้าถึงตรงกับลูกค้านั้นๆ โดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับ Grab ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อร้านค้าและคนขับรถของ Grab

       ในส่วนของรายได้ใหม่ๆ ด้านต่างประเทศ กรุงศรีจะมีการขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนการขยายธุรกิจของลูกค้าให้ไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาค ASEAN ที่มีโอกาสและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง

       ประเด็นสุดท้าย การธนาคารยั่งยืน (Sustainable Banking) กรุงศรียังคงให้ความสำคัญต่อในเรื่องความยั่งยืนและประเด็นด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สามารถก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำในฐานะสถาบันการเงินที่มุ่งสนับสนุนการเติบโตในธุรกิจเพื่อสังคม และความยั่งยืนจะเป็นหนึ่งในหัวข้อพิจารณาสำหรับการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกค้ากรุงศรี โดยธนาคารจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและจูงใจให้ลูกค้าตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้

กางแผนธุรกิจระยะกลาง

รุกสินทรัพย์ดิจิทัล

นายเซอิจิโระกล่าวว่า ในปี 2565 กรุงศรียังคงขับเคลื่อนธุรกิจตามแผนธุรกิจระยะกลาง (Medium Term Business Plan) ที่ครอบคลุมปี 2564-2566 อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการเป็น “สถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้ง ASEAN” ซึ่งในภาพรวม ธนาคารยังคงดำเนินธุรกิจภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก ตามที่เคยกล่าวไว้ ซึ่งประกอบด้วย การปฏิรูปธุรกิจลูกค้ารายย่อยให้เป็นหนึ่งเดียว (One Retail Transformation) การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้านลูกค้าธุรกิจ (Commercial Business Enhancement) การสร้างระบบนิเวศและพันธมิตรทางธุรกิจ (Ecosystem and Partnership) การขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Expansion) และการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ (New Revenue Stream)

“จุดยืนที่สำคัญของธนาคารในปัจจุบันคือ การดำเนินธุรกิจในฐานะ “ธนาคารแห่งภูมิภาค” (Regional Bank) ที่ไม่เพียงมุ่งสร้างการเติบโตและขยายความร่วมมือภายในประเทศ แต่จะใช้ศักยภาพที่แข็งแกร่งในอาเซียนและข้อได้เปรียบในการเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเงินระดับโลกอย่าง MUFG สร้างการเติบโตให้กว้างไกลในภูมิภาคมากขึ้น และนำพาลูกค้าของธนาคารออกไปเติบโตในต่างประเทศด้วยเช่นกัน”

ดังนั้น โดยในปี 2565 กรุงศรีมีแผนการดำเนินงานที่จะช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ด้านหลักๆ ดังนี้

       ด้านธุรกิจธนาคาร (Core Business) : กรุงศรีจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเป็นหลัก (Technology-driven) โดยสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มและการต่อยอดดิจิทัลโซลูชั่นเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ กรุงศรียังจะให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลเป็นพลังในการขับเคลื่อนองค์กรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Data-driven & Alternative information)

       พร้อมทั้งริเริ่มและส่งเสริมในเรื่อง Financial Inclusion ผ่านการขยายการให้บริการ Digital P-loan ไปยังกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีรายได้ประจำโดยใช้ Alternative information ประกอบการอนุมัติสินเชื่อ อีกหนึ่งการดำเนินงานสำคัญคือ การเชื่อมต่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ (Payment connectivity) ด้วยการพัฒนาโครงข่ายระบบ Cross border payment & remittance ที่กรุงศรีได้พัฒนาร่วมกับ MUFG & Partner Banks ซึ่งเป็นสถาบันการเงินต่างๆ จากหลากหลายประเทศในอาเซียน เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการดำเนินธุรกรรมระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     ด้านธุรกิจใหม่ (New Business) : การสร้างระบบนิเวศและพันธมิตรทางธุรกิจ (Ecosystem & Partnerships) ยังคงเป็นสิ่งที่ทางธนาคารให้ความสำคัญ จากความสัมพันธ์อันดีของธนาคารกับลูกค้าธุรกิจที่มีมาอย่างยาวนาน ธนาคารจึงได้มีเป้าหมายที่จะยกระดับความสัมพันธ์ดังกล่าวไปสู่การเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ และร่วมกันสร้าง Ecosystem เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

       โดยในปัจจุบัน ธนาคารได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำในการพัฒนา 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ Mobility, Living, B2B Commerce Ecosystems อันจะนำไปสู่การนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างความแตกต่างให้กับตลาดในช่วงปี 2565 ได้อย่างแน่นอน

สำหรับการเสริมศักยภาพในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Capabilities) ก็เป็นอีกกลยุทธ์สำคัญ ซึ่งกรุงศรีได้วางรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัจจุบันกรุงศรีมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งและครอบคลุมหลายประเทศในอาเซียน ส่งผลให้กรุงศรีเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอาเซียนและอยู่ในฐานะธนาคารแห่งภูมิภาค ดังนั้นสำหรับการขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศในปี 2565 จะเป็นกลยุทธ์อีกก้าวของธนาคาร โดยธนาคารจะให้น้ำหนักและความสำคัญกับการใช้ศักยภาพ ประสบการณ์ และความแข็งแกร่งเหล่านั้นส่งต่อให้กับลูกค้า นำพาลูกค้าของธนาคารออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารจะให้ความสำคัญในเรื่อง Advisory service ที่ถือเป็นจุดแข็งของกรุงศรีที่ได้ดำเนินการร่วมกันกับ MUFG & Partner Banks มาโดยตลอด ในการเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำกับลูกค้าในการขยายธุรกิจในประเทศต่างๆ

นายเซอิจิโระกล่าวว่า กรุงศรีจะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล (Investment Business & Digital asset) โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มอย่างครอบคลุม ผนวกกับความเคลื่อนไหวในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นทำให้ธนาคารเองจะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร

สำหรับการปรับตัวของธุรกิจธนาคารในการเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล ธนาคารจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น พลิกรูปแบบการดำเนินงานภายในองค์กรสู่การเป็น Agility Organization เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้นของโลกดิจิทัล ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้ธนาคารสามารถกระโจนเข้าสู่โลกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ธนาคารวางกลยุทธ์ในเรื่องดังกล่าวด้วยการให้ความสำคัญในเรื่อง Partnership หรือการเป็นพันธมิตร ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำต่างๆ ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามานำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเดิมของธนาคาร และรวมถึงการนำสินทรัพย์ของลูกค้าเองไปแปลงเป็นดิจิทัลเพื่อนำเสนอออกสู่ตลาดเช่นกัน ซึ่งธนาคารคาดหวังว่าจะสามารถตอบโจทย์ทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ

โดยก่อนหน้านี้ กรุงศรีได้ประกาศความร่วมในเรื่องดังกล่าวกับ Zipmex ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มชั้นนำด้านการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งนับเป็นพันธมิตรธุรกิจในด้านสินทรัพย์ดิจิทัลรายแรกของกรุงศรี ซึ่งคาดว่าจะมีการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน เพื่อนำเสนอออกสู่ตลาดในเวลาอันใกล้นี้

“นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลกับพันธมิตรอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทั้งธุรกรรมในการลงทุนในไทยและต่างประเทศ”

กรุงไทยเดินต่อยุทธศาสตร์

2 Banking Models

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในปี 2565 ธนาคารกรุงไทยยังคงดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน (Growing Together for Sustainability) ภายใต้พันธกิจใหม่คือ “To empower better life for all Thais” โดยมุ่งมั่นพัฒนา Thailand Digital Platform เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและลูกค้าทุกกลุ่มให้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ อาทิ ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างการกระจายรายได้ในสังคม

ตลอดจนมุ่งสร้างความเท่าเทียมกันด้านการเงินแก่คนไทย เช่น โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ความรู้ทางการเงิน สิทธิพื้นฐานสำหรับบริการภาครัฐ เป็นต้น รวมทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่กำลังเข้าสู่ยุค Digital Economy ให้ทั่วถึงและสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ ด้วยการขับเคลื่อนองค์กรตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจน ผ่านการเข้าร่วมวางรากฐานและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเงินของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น Krungthai NEXT ซึ่งเป็นโมบายแบงกิ้งของธนาคาร มีผู้ใช้งานกว่า 13 ล้านราย แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ซึ่งเป็น Thailand Open Digital Platform ได้รับการพัฒนาโดย บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย มีผู้ใช้งานกว่า 33 ล้านราย

แอปพลิเคชั่นรับชำระเงินหรือถุงเงิน มีร้านค้ากว่า 1.5 ล้านร้านค้าเข้ามาใช้บริการ รวมทั้ง Krungthai Connext อีกกว่า 16 ล้านราย ทำให้ธนาคารกรุงไทยมีฐานลูกค้าและประชาชนมากกว่า 40 ล้านราย ผลักดันให้ธนาคารก้าวขึ้นสู่ผู้นำด้าน Digital Banking ของประเทศจากการการเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการในประเทศไทยในปัจจุบัน

ในปี 2565 ธนาคารกรุงไทยจะยังคงให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยยุทธศาสตร์คู่ขนาน หรือ “ 2 Banking Models” เพื่อต่อยอดการเติบโตของธนาคารผ่าน 2 รูปแบบธุรกิจสำคัญคือ เรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier) และ เรือเร็ว (Speed Boat) ตามแผนปฏิบัติการ 5 เสาหลักสำคัญ (5 Execution Pillars) อย่างต่อเนื่อง

โดยมุ่งการดำเนินงานตามแผนปฎิบัติการดังกล่าว ให้ “ลึกขึ้น” และ “กว้างขึ้น” ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น ได้แก่ 1. การประคองการเติบโตของธุรกิจหลักที่เป็นธุรกิจเดิมให้เติบโตต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ 2. การสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ 3. ปรับกระบวนการภายในให้เป็น Paperless Organization 4. การต่อยอดจากธุรกิจจากคู่ค้าของลูกค้าด้วยกลยุทธ์ X2G2X ที่เชื่อมโยงกันด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี (Digital Supply Chain)

รวมทั้งการทำงานร่วมกันและประสานการดำเนินธุรกิจทั้งในส่วนของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจของธนาคารกรุงไทย ตลอดจนการร่วมมือกับพันธมิตรทุกกลุ่ม ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 5.การดำเนินธุรกิจของธนาคารให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน (Krungthai Sustainability)

นอกจากนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับ 5 Ecosystems ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธนาคารอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มการชำระเงิน กลุ่มการรักษาพยาบาลและสุขภาพ กลุ่มสถาบันการศึกษาและนักเรียน และกลุ่มระบบขนส่ง ธนาคารมองว่าลูกค้า 5 กลุ่มดังกล่าว เป็นจุดแข็งของธนาคารที่ต้องพยายามรักษาไว้และยังสามารถใช้เชื่อมโยงการให้บริการไปสู่ระบบนิเวศอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของลูกค้า สามารถต่อยอดธุรกิจผ่านการนำเสนอบริการทางการเงินต่างๆ ได้อย่างตรงใจ และตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด

สร้างพื้นฐาน Digitalization

ขยับเข้าสู่สินทรัพย์ดิจิทัล

โดย ธุรกิจหลัก (Traditional Business) ยังคงเน้นการปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายย่อย ที่ครอบคลุมกับความต้องการทุกประเภท รวมทั้งสินเชื่อที่ช่วยปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) และปรับกระบวนการผลิต สำหรับธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต และสอดคล้องกับยุค New Economy ที่กำลังมาถึง ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีระดับ Risk & Return ที่เหมาะสม ให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อออนไลน์มากขึ้น เช่น ปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งในขณะนี้ ธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่อผ่าน Krungthai Next ไปบ้างแล้ว

ตั้งเป้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และ Digitalization มากขึ้น แต่จะพยายามรักษาระดับ Cost to Income Ratio ให้อยู่ในระดับเดิมจากประสิทธิภาพที่สูงขึ้นของระบบ IT ปรับกระบวนการทำงาน ค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่เหมาะสม และเพิ่ม Productivity รักษาระดับ Coverage Ratio ให้อยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอนและปัญหา NPL ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการบริหาร NPL Cliff ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ(Soft Landing)

สำหรับ ธุรกิจใหม่ (New Business) ธนาคารจะค้นหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านอินฟินิธัส บาย กรุงไทย (Infinitas by Krungthai) ซึ่งมุ่งเน้นการให้บริการด้านการพัฒนา Innovation & Digital Platform ต่างๆ ตามยุทธศาสตร์เรือเร็ว (Speed Boat) ซึ่งเน้นสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ธุรกิจในยุค New Normal (Innovative Digital Business Platform) และรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไทย

โดยการพัฒนาแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ให้เป็น Thailand Open Digital Platform ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร ครอบคลุมทุกกิจกรรมในชีวิตของลูกค้าประชาชน ทั้งการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ด้านสุขภาพ การศึกษา รวมถึงการบริการต่างๆ ของภาครัฐ อีกทั้งยังต่อยอดจากกิจกรรมการออมและการลงทุนเช่น 1-Baht Bond หุ้นกู้ดิจิทัล และ Gold Wallet เพื่อวางรากฐานสู่ Digital Assets ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-add) ให้กับระบบเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังเปิดกว้างร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลาย ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับศักยภาพของ Platform ให้สามารถบริการครอบคลุมกิจกรรมหลักในชีวิตของลูกค้าและประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะด้านบริการทางการเงินและกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับ 5 Ecosystems

พร้อมทั้ง ยกระดับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัลที่มีความเชี่ยวชาญและหลากหลาย ยึดหลัก “One unite goal as a F1 Team” ภายใต้การคิดแบบนอกกรอบ ซึ่งมีรูปแบบการทำงานที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว ประสบการณ์ การทำงานแบบบูรณาการ (Integrate) ความคล่องตัว (Agile) ความเชื่อถือได้ (Reliable) ความแม่นยำ (Accurate) และความปลอดภัย (Secure)

 อีกทั้งมีการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในระดับโลก เช่น Accenture จัดตั้งบริษัท ARISE เพื่อเพิ่มศักยภาพและทรัพยากรบุคคลทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลโดยเฉพาะ ที่จะร่วมกันสร้างโอกาสสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

นายผยงกล่าวอีกว่า การก้าวสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และยอมรับว่าเป็นโลกที่มีการ Disruption สามารถมีได้ทั้งวิกฤติและโอกาสไปพร้อมกัน คาดว่าในอนาคตอันใกล้หน่วยงานกำกับดูแล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังพิจารณาเรื่องอนุญาตให้ธนาคารทำธุรกิจที่นอกเหนือธนาคารแบบเดิม รวมทั้งจะเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในธุรกิจธนาคารด้วยเช่นกัน

ซึ่งจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างสถาบันการเงินกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่แบงก์ (Non Bank) คลุมเครือขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีทั้ง Non Bank และ Invisible Bank เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี เช่น De-Fi, NFT ที่มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ในการทำให้กรรมสิทธิ์ (Ownership) ของสินทรัพย์และสิทธิประเภทต่างๆ รวมทั้งมูลค่าของมันสามารถเปลี่ยนมือได้สะดวก แบบ Near-Real Time และ Anytime Anywhere ซึ่งจะเป็นรากฐานในการนำไปพัฒนาสู่ธุรกิจใหม่ๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม แต่ละธนาคาร อาจใช้วิธีที่แตกต่างกันในการเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การตั้งบริษัทลูกเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ การร่วมทุนกับพันธมิตร การซื้อธุรกิจ เป็นต้น โดยทุกธนาคารต่างก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน จึงพยายามยึดโยงจุดแข็งของตัวเองหรือเรียกว่า ใช้ดิสรัปชั่นให้เป็นโอกาสในการเลือกรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อเข้าสู่ธุรกิจใหม่ และมีความพร้อมในการบริหาร Cyber Risk รูปแบบใหม่ๆ ที่มาพร้อมกัน

กรุงเทพรักษาจุดแข็ง

ธนาคารไทยระดับภูมิภาค

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับประมาณ 3-4% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งต่อเนื่องมาเป็นปีที่สาม และความผันผวนของระบบการเงินโลก จากการที่ธนาคารกลางของบางประเทศเริ่มทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องและขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและดูแลประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ พื้นฐานสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยในช่วงที่ผ่านมา มาจากการที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ระดมฉีดวัคซีนกันไปมากแล้ว อีกทั้งยังพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทางการแพทย์และการรักษาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนประเทศไทยก็ได้เร่งระดมฉีดวัคซีนกันอย่างเต็มที่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้คนไทยมากกว่า 50 ล้านคนมีภูมิต้านทานมากขึ้น

โดยช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการที่แต่ละคนจะออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น นำไปสู่การเริ่มเปิดและขยายธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2564 จะชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปอีกระยะ

นายชาติศิริกล่าวอีกว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกในหลายๆ ด้าน รวมทั้งภาคธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก อีกส่วนหนึ่งกลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ระบบโลจิสติกส์ บริการจัดส่งสินค้า เป็นต้น โดยปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือ ลูกค้า ทั้งส่วนที่เป็นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตอบรับการทำธุรกรรมแบบดิจิทัลและออนไลน์มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการดังกล่าว

สำหรับประเทศไทย ภาคการธนาคารมีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของทางการเงินต่างๆ การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อเพิ่มสมรรถนะของบริการชำระเงินและบริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือ ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce และการชำระเงินที่ไม่ใช้เงินสด นอกจากนี้ ภาคการธนาคารยังช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและช่องทางออนไลน์เข้าสู่กระบวนการทางธุรกิจของตนอีกด้วย            

นายชาติศิริกล่าวว่า ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ธนาคารกรุงเทพตระหนักดีว่า ลูกค้าคาดหวังต่อบริการที่ครอบคลุมกว้างขวางมากกว่าธุรกรรมด้านการธนาคารและการเงิน ธนาคารจึงมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบบริการของธนาคารเข้ากับแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ลูกค้าใช้ เพื่อให้เกิด Digital Financial Ecosystem ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้า

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารจึงได้สร้างสรรค์ทางเลือกการชำระเงินในช่องทางต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมให้บริการแก่ลูกค้าที่มีความต้องการหลากหลาย ตั้งแต่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีระบบเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เช่น เว็บไซต์ ตลาดออนไลน์ e-Marketplace ไปจนถึงผู้ค้ารายเล็กๆ ที่จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทาง Social Media และ Chat Application ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถที่จะรับชำระเงินจากผู้ซื้อทั่วโลกได้ ผ่านแพลตฟอร์มการชำระเงินนานาชาติ เช่น Alipay, WeChat Pay และการรับชำระเงินผ่าน Payment Gateway ต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารได้พัฒนาระบบงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ธนาคารได้ร่วมกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทดลองออกให้บริการ Mobile ID ซึ่งเป็นระบบการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลที่ช่วยให้การทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์มีความสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น

โดยผู้ใช้สมาร์ตโฟนในเครือข่ายทั้งของ AIS, Dtac และ True สามารถเปิดบัญชีหรือสมัครใช้ ‘บริการโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ’ ผ่านสมาร์ตโฟนได้โดยไม่ต้องไปที่สาขาธนาคาร โดยยืนยันตัวตนตามขั้นตอนบนแอปพลิเคชั่น ‘atta’ (อั๊ตต้า) ของธนาคารกรุงเทพ กล่าวได้ว่า ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารแรกในประเทศไทยที่เปิดตัวระบบการยืนยันตัวตนด้วย Mobile ID นี้ และมีแผนจะต่อยอดเพื่อใช้งาน Mobile ID กับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน ‘บริการโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ’ ก็ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าผู้ใช้สมาร์ทโฟน โดยที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างหลากหลาย เช่น บริการเปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ และบัญชีสำหรับการลงทุนในกองทุนรวม บริการโอนเงินระหว่างประเทศ และการทำธุรกรรมโดยใช้บัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit Account – FCD)

นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถนำบัญชีเงินฝากที่อยู่ในสถานะไม่ใช้งาน กลับมาใช้ได้ใหม่ โดยเพียงแจ้งหมายเลขบัญชีและทำการยืนยันตัวตนด้วยการตรวจสอบใบหน้า ซึ่งเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้บริการ Mobile Banking ของลูกค้าในปัจจุบัน

“ในปี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้พัฒนาบริการทำธุรกรรมออนไลน์ให้มีความสามารถสูงขึ้น เช่น บริการ Trade Finance บนเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเปิดให้บริการแก่ลูกค้าภายใต้ Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย การพัฒนาบริการ Trade Finance ดังกล่าว ดำเนินการบนแพลตฟอร์ม Contour ของ R3 ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่องค์กรต่างๆ จากทั่วโลก รวมทั้งธนาคารกรุงเทพ ร่วมกันก่อตั้งขึ้น”

นายชาติศิริกล่าวว่า ธนาคารได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ในการพัฒนาบริการ Letter of Credit (L/C) ในระบบดิจิทัลเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาค ทำให้ธนาคารเพอร์มาตา ซึ่งเป็นธนาคารในเครือของธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารแรกในอินโดนีเซียที่สามารถให้บริการ L/C บนแพลตฟอร์มนี้

ในขณะเดียวกัน ธนาคารยังได้เริ่มให้บริการสินเชื่อ Supply Chain สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บนแพลตฟอร์ม Contour ภายใต้ Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ค้าขายกับบริษัทขนาดใหญ่และเป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ สามารถบริหารกระแสการเงินให้สอดคล้องกับวงรอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพยังเป็นผู้นำในการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่ลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย “สินเชื่อสีเขียว” หรือ Green Finance โดยในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้ให้สินเชื่อ Green Finance เป็นมูลค่ารวมมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินเชื่อประเภทนี้ในประเทศไทยเป็นปีที่สองติดต่อกัน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

ในปี 2565 นี้ ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับการประคับประคองลูกค้า ทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจให้ก้าวผ่านความยากลำบากที่เป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ไปให้ได้ ซึ่งมุ่งเน้นการลดภาระทางการเงินให้ลูกค้า หรือดูแลให้ลูกค้ามีสภาพคล่องที่เพียงพอเหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย โดยในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารดูแลลูกค้าเป็น 3 ระยะ คือ

1. ช่วยเหลือให้มีสภาพคล่องเพื่อประคับประคองกิจการและพนักงาน 2. เมื่อลูกค้าเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ธนาคารก็ช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้สามารถค้าขายหรือผลิตสินค้าได้ตามคำสั่งซื้อ และ 3. เมื่อลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติแล้วและต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อการปรับตัวดังกล่าว”

นายชาติศิริกล่าวว่า การช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการต่อไปได้ ยังส่งผลต่อเนื่องถึงผู้เกี่ยวข้องตลอดทั้ง Supply Chain โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่มีความเปราะบาง หากพนักงานของบริษัทต่างๆ ยังคงมีงานทำและมีรายได้ ครอบครัวของพนักงานก็จะไม่ลำบากมากนัก และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ บริษัทที่รักษาพนักงานไว้ก็จะสามารถขยายธุรกิจรับโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันที

“ระหว่างที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวให้รับกับการระบาดของโรคโควิด-19 และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ธนาคารได้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตไว้อย่างรอบด้าน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของธนาคารมีความมั่นคงแข็งแรงและสามารถสนับสนุนลูกค้าได้ในทุกสถานการณ์”

 โดยธนาคารเน้นการสร้างความเติบโตให้แก่สินทรัพย์ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ให้ความสำคัญทั้งในด้านขนาดและด้านคุณภาพ เพื่อให้มีเงินกองทุนที่เพียงพอและสภาพคล่องที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มเติม อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ของธนาคารเองและส่วนที่ร่วมพัฒนากับพันธมิตร เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารพร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ

นายชาติศิริกล่วว่า ธนาคารเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากจุดเด่นที่มีอยู่ นั่นก็คือ การเป็นธนาคารไทยในระดับภูมิภาคที่มีฐานลูกค้าเข้มแข็ง ทั้งในไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีตลาดในประเทศขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมทั้งในตลาดสำคัญอื่นๆ ในเอเชีย ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนลูกค้าด้วยบริการทางการเงินและการค้า ที่เชื่อมโยงถึงกันและเอื้ออำนวยต่อกัน สำหรับการดำเนินธุรกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้ทุกฝ่ายเจริญเติบโตไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ธนาคารกรุงเทพดำเนินธุรกิจ โดยมีจุดมุ่งเน้น 5 ด้านคือ

       1. Business for the Future : ธนาคารกำลังพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงให้มีกระบวนการทำงานที่กระชับขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติต่างๆ เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงของธนาคารมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในขณะที่ลูกค้าได้รับการบริการที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และรวดเร็วยิ่งขึ้น

       2. Wealth and Wellbeing : มุ่งเน้นการขยายขอบข่ายบริการทางการเงินให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้า เพื่อสนับสนุนลูกค้าในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ในอนาคต

      3. Quality Growth : สนับสนุนลูกค้าในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งตลาดในประเทศไทยและในภูมิภาค

       4. Platform Partners : ร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายทั่วทั้ง Ecosystem เพื่อให้บริการทางการเงินที่เป็นนวัตกรรมล่าสุดและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

     5. Intelligent Organization : ส่งเสริมบุคลากรในการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้มีความเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้ง AI, Machine Learning และระบบ Automation เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน

ศึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล

เน้นรอบคอบระมัดระวัง

นายชาติศิริกล่าวด้วยว่า สินทรัพย์ดิจิทัลและสกุลเงินคริปโตกำลังได้รับความสนใจอย่างมากทั้งในไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยในช่วงที่ผ่านมา มีการพัฒนานวัตกรรมในด้านนี้อย่างหลากหลาย และได้รับความสนใจอย่างสูงจากผู้ลงทุนประเภทบุคคล และผู้ลงทุนประเภทสถาบันที่เริ่มเข้ามาศึกษาโอกาสในด้านนี้

หลังจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้อนุญาตให้กองทุนซื้อขายตราสารอนุพันธุ์ (Futures) ของสกุลเงินคริปโต (Cryptocurrency Exchange Traded Funds – ETF) เป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดได้ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งได้เริ่มเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และมีแนวโน้มว่าจะมีมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

สำหรับในไทยและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก หน่วยงานกำกับดูแลกำลังเร่งศึกษาหาแนวทางเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ ให้ก้าวทันนวัตกรรมและช่วยคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและมีความเร่งด่วน เนื่องจากผู้ลงทุนประเภทบุคคลกำลังให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่การซื้อขายยังเป็นไปในลักษณะการเก็งกำไรและมีความผันผวนสูง

“สิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนในขณะนี้ควรตระหนักก็คือ สกุลเงินคริปโตมีพื้นฐานอยู่บนเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนและคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจกลไกต่างๆ อย่างเพียงพอ การลงทุนจึงมีความเสี่ยงสูงและอาจสูญเสียได้ แม้จะเลือกลงทุนกับสกุลเงินคริปโตที่ได้รับความนิยมและมีระบบเทคโนโลยีที่ดีก็ตาม”

นอกจากนี้ ยังคงมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการกำกับดูแลที่ยังไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง เช่น การระบุตัวตนของผู้ลงทุน เส้นทางการเงินก่อนและหลังการลงทุน ที่ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้องค์กรอาชญากรรมฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากการถือสินทรัพย์โดยไม่ต้องระบุตัวตนของผู้ถือ และเรื่องภาษีจากการซื้อขายสินทรัพย์ประเภทนี้

นายชาติศิริกล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพได้ศึกษาติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะมีต่อบริการทางการเงิน ทั้งสำหรับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ และนอกเหนือจากกระแสความนิยมต่อสกุลเงินคริปโต และ Token ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมคือ ระบบเทคโนโลยีที่รองรับสกุลเงินเหล่านี้ ที่มีพื้นฐานอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain ได้แก่ Decentralized Finance (DeFi) และ Web 3.0 ที่เปลี่ยนระบบฐานข้อมูลจากแบบรวมศูนย์ เป็นแบบกระจายออกเป็นหน่วยย่อยๆ ซึ่งร่วมกันตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูล อันจะทำให้การทำธุรกรรมมีความโปร่งใส รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญกับเทคโนโลยีใหม่นี้ ที่จะรองรับการเชื่อมโยงของเครือข่ายธุรกรรมต่างๆ และช่วยให้การค้าและการชำระเงินระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมสนับสนุนโครงการสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จในการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารในช่วงนำร่องแล้ว จะได้เข้าสู่ระยะการพัฒนาสำหรับลูกค้าทั่วไป

สำหรับ Tokenization ซึ่งเป็นการสร้างตัวแทนดิจิทัลของสินทรัพย์ที่จับต้องได้ด้วยเทคโนโลยี Blockchain นับเป็นพัฒนาการในภาคการเงินและการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายสินทรัพย์ต่างๆ เนื่องจากเปลี่ยนมือได้ง่ายและแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ ได้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ กองทุนต่างๆ ทรัพย์สินทางปัญญา งานศิลปะ อัญมณี ฯลฯ

โดยผู้ถือสินทรัพย์เหล่านั้นสามารถเป็นเจ้าของร่วมกันตามสัดส่วน และสามารถซื้อขายกรรมสิทธิ์ในส่วนของเจ้าของแต่ละคนได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในวงกว้าง สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงได้ด้วยเงินจำนวนไม่มากนัก

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพกำลังศึกษาและหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้นั้น ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อรักษาความมั่นคงของธนาคารและดูแลสินทรัพย์ของลูกค้าให้ปลอดภัย พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลูกค้าขยายผลต่อยอดความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน

แหล่งที่มา: การเงินธนาคาร

https://moneyandbanking.co.th/article/news/stategies-bank-economic-covid19-mb477-jan2022-130165

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *